วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บัญญัติ 25 ประการของนักดนตรี นักร้อง

บัญญัติ 25 ประการของนักดนตรี

                                      
อันนี้รู้สึกจะแปลมาจากแมกกาซีนดนตรีต่างประเทศ อ่านแล้วขำดีครับ แต่ก็มีส่วนจริงอยู่บ้างอย่าซีเรียสนะครับ

บัญญัติ 25 ประการของนักดนตรี นักร้อง

กฏข้อหนึ่ง พึงรู้ไว้ซะว่าไม่มีใครชอบ "ไอ้ผยอง อหังการ"
จาก การพิสูจน์พบว่า นักดนตรีส่วนใหญ่ ไม่ได้คาดหวังว่าคุณจะเป็นคนที่ เล่นได้วิเศษเลิศเลอมาจากไหน เขาเพียงต้องการ ใครสักคนที่มีทัศนะคติที่ดี และพร้อมที่จะเล่น ในส่วนของตนอย่างถูกต้อง เนื่องจากเวลาส่วนใหญ่ ของพวกคุณไม่ใช่การอยู่บนเวที ดังนั้น ความสัมพันธ์ ฉันท์มิตรในระดับส่วนตัว ก็มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่า ความสมัครสมานในการเล่นดนตรีร่วมกัน ฉะนั้น ถ้าคุณเป็นไอ้ผยอง อหังการ ข้าทำได้ เล่นได้ อยู่ได้ โดยไม่เอาใครแล้วล่ะก็ คุณถูกเด้งออกจากวงแหงๆ เพราะไม่มีใครสำคัญที่สุด จนขาดไม่ได้หรอก

กฏข้อสอง ความรู้สึกสุขใจ เป็นคุณสมบัติที่ดี ทางด้านดนตรี คงไม่มีใครอยากร่วมแสดงบนเวทีกับคุณ ถ้าคุณกำลังอารมณ์เสีย คุณต้อมมีอารมณ์ที่สุขใจเท่านั้น คุณถึงจะสามารถสร้างเสียงดนตรีที่ บาดอารมณ์ หวานซึ้ง ดุดัน ได้อย่างที่ทุกคนต้องการ เจ้าเสียงบาดอารมณ์ก็คือ สิ่งที่คุณต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ และพัมนามันอย่างต่อเนื่อง ลองอัดเทปฝีมือดนตรีของคุณ แล้วหาข้อบกพร่อในจุดต่างๆ แล้วนำมาปรับแก้ไข โดยคุณอาจหางานแจ๋วๆ ในแนวดนตรีต่างๆมาฝึกฝนตาม ซึ่งมันจะเป็นบันได พาคุณไปสู่ความฉกาจฉกรรจ์
กฏข้อสาม พัฒนาแนวตัวเอง การฝึกเล่นตามแบบฉบับ ของนักดนตรีที่คุณชอบ นับเป็นวิธีที่ดีเหมือนกัน แต่สิ่งที่พึงระวังคือ อย่าปล่อยให้ คุณมีสไตล์ที่ละม้ายคล้างคลึงกับต้นแบบ มากจนเกินไป ยอมรับความจริงเสียเถอะว่า ตัวจริงมีได้เพียงหนึ่งเดียว เท่านั้น พยายามให้ตาย คุณก็ไม่มีวันเป็นเขาได้หรอก จงพยายามหาสิ่งที่เป็นตัวคุณเอง เพราะคุณสามารถที่จะ เป็นตัวคุณเองได้ ให้อิสระกับตัวเองในการทดลอง ทดลองปรับแนวของคุณด้วยตัวคุณเอง ซึ่งวิธีนี้ได้ผลมาแล้วกับ Soundgarden หรือไม่ก็อย่าง Tom Morello มือกีต้าร์วง Rage Againts The Machine

คุณจงจำไว้ว่ากฎเกณฑ์ทางดนตรี มีไว้ให้ฝ่าฝืนเสมอ

กฏข้อสี่ จงตรงต่อเวลา ฝันไปเถอะว่าพวกศิลปินน่ะ จะเป็นพวกที่ตรงแต่เวลา แต่เราเคยรู้จักหัวหน้าวงที่ เลือกนักดนตรีที่มีฝีมือปานกลาง แต่ตรงต่อเวลาเสมอ เห็นเวลาการซ้อมเป็นเงินเป็นทอง คุณจะกลายเป็น มนุษย์ที่ไร้ค่าไปในทันที ถ้าคุณไม่รู้จักคำว่าตรงต่อเวลา เพราะว่าคุณคงมีโอกาสเพียงไม่กี่ครั้งหรอก สำหรับการที่คุณไม่ตรงต่อเวลา รับรองได้เลยว่า เพื่อนร่วมวงอาจกำลังรอเวลาเฉดหัวคุณในไม่ช้า

กฏข้อห้า ฟัง ฟัง ฟัง แล้วก็ฟัง ทุกครั้งที่คุณอยู่บน เวที หรือในสตูดิโอ อย่าอยู่ในโลกส่วนตัว ให้รู้จักฟัง และตอบโต้กับเพื่อนร่วมวงบ้าง พยายามสร้างบทสนทนา ด้วยเสียงดนตรีกับพวกเขา แต่อย่าเล่นดังขวางลำ ในขณะที่เพื่อนกำลังโซโลอยู่ จงรู้จักปล่อยให้คนอื่น ได้มีโอกาสเด่นบ้าง รับรองว่าคุณไม่ว่างงานแน่ ถ้าคุณรู้จักทำให้นักดนตรีคนอื่นรู้สึกว่า เมื่อคุณอยู่กับเขาแล้ว เขาเล่นได้ดี

กฏข้อหก รู้ในสิ่งที่คุณต้องการจะเป็น ศิลปินที่ประสบความสำเร็จทุกคน ต่างก็ต้องมีจุดมุ่งหมาย ที่แน่วแน่ทั้งนั้น และพวกเขาก็จะพยายามทำทุกอย่าง ที่จะพาเขาไปสู่ฝัน ที่แน่ๆคุณควรรู้ว่าวงของคุณ ต้องการอะไรกันแน่ เช่นถ้าเขาฝันกัน อยากจะเป็นอย่างวง R.E.M. สิ่งที่คุณควรทำก็คือการฝึกแต่งเพลงและ ซ้อมการประสานเสียงอย่างสม่ำเสมอ

กฏข้อเจ็ด จงเล่นดนตรีเพื่อดนตรี ไม่ใช่เพื่อตัวคุณเอง
นี่ เป็นคำสั่ง ให้คุณเล่นดนตรี ไปตามครรลองของบทเพลง แม้ว่าเราจะแนะนำให้คุณรู้จักทดลอง และพัฒนาตัวเอง แต่คงไม่ดีแน่ ถ้าคุณบ้าบิ่นขนาดเอาแนวการเล่นของวง Bush มาใช้ในวงของคุณ ที่กำลังหลงไหลแนวเพลง Jazz (แม้ว่ามันอาจจะน่าลอง) ผมแนะนำว่า อย่าทำให้ดนตรีของคุณ เละเทะไปกว่าที่เป็นอยู่



กฏข้อแปด อย่าแยกตัวออกจากกลุ่ม หนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้คุณได้งานอย่างสม่ำเสมอ คือการทำตัวให้เป็นที่รู้จัก พยายามผูกมิตรกับกลุ่มนักดนตรีอื่นๆบ้าง เผื่อว่างานจะหลุดมาถึงคุณ ถ้าเค้าไม่รู้จักคุณ ก็อย่าหวังเลยว่างานที่เค้าไปเล่นไม่ได้ (ด้วยเหตุอันใดก็ตาม) จะหลุดมาถึงมือคุณ เพราะใครจะมาจ้าง หรือกล้าโยนงานมาให้คุณ ถ้าเค้าไม่รู้จักคุณ

กฏข้อเก้า อย่าแต่งเพลงเพื่อตัวเอง ถ้าคุณคือนักดนตรีที่หวังจะเอางานด้านนี้เป็นหลัก อยากออกเทปดังเป็นพลุแตก จงระลึกไว้เสมอว่า แนวเพลงที่คุณชอบ คนอื่นอาจไม่ชอบก็ได้ เพราะฉะนั้น หากคิดที่จะแต่งเพลง อย่างแต่งเพลงตามใจตัวเอง รู้จักเอาเพลงของเราให้คนอื่นฟังบ้าง จะได้รู้ว่าคนทั่วไปเค้าคิดยังไงกับเพลงของเรา บางครั้งเพลงที่คุณแต่ง มันอาจเป็นเพลงที่สุดยอดที่สุด แต่เหมาะสำหรับเก็บไว้ฟังคนเดียว สิ่งที่คุณควรทำ ถ้าคุณเห็นมันเป็นอาชีพ คือ "แต่งเพลงอย่างไรให้คนส่วนใหญ่ชอบ" ถ้าคุณทำได้ อาชีพนักดนตรีถึงจะเป็นของคุณได้ (โดยเฉพาะถ้าคุณคือคนไทย)

กฏข้อสิบ เต็มที่เกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี บางครั้งการที่คุณตั้งใจเล่น อย่างสุดความสามารถ ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด แต่การเล่นอย่างพอเหมาะพอควร ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป คือสิ่งที่จะทำให้เพลงที่คุณเล่น มีเสน่ห์ น่าฟัง ไม่รกหูหรือโล่งกว้างเป็นทุ่ง คนฟังน่าจะได้อรรถรสกว่า

กฏข้อสิบเอ็ด ภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญ นี่เป็นสัจธรรมอันน่าเศร้า ของวงการดนตรีทั่วโลก แต่อย่างน้อยคุณก็น่าจะพอชื่นใจได้บ้างว่า โลกแห่งดนตรี ไม่ได้ต้องการภาพลักษณ์ เพียงอย่างเดียวหรอก จงใช้สามัญสำนึกของคุณให้เป็นประโยชน์ แม้ว่าคุณจะเป็นนักดนตรีที่เก่งฉกาจ แต่ถ้าคุณไม่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเลย ไม่ว่าจะเป็น การแต่งตัว ทรงผม รองเท้า เรียกว่าไม่มีอะไรให้น่าจดจำ คนส่วนใหญ่ก็คงไม่ได้สนใจคุณเป็นพิเศษ ถ้าไม่อคติกับการสร้างภาพมากเกินไปนัก คุณอาจลองแต่งตัวสไตล์ใหม่ๆ ฟิตร่างกายซะหน่อย ทำผมเผ้าให้ดูเจ๋งๆ คุณก็มีทางเลือกให้ตัวเองเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เหรอ

กฏข้อสิบสอง สไตล์ดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ นักดนตรีมากมายที่บอกว่า เค้าใช้เวลาเป็นสิบๆปี เพื่อหาเอกลักษณ์ของวง พวกนี้ยังโชคดี เพราะบางคนไม่พบสักที มันควรเริ่มตั้งแต่การเล่นดนตรีของคุณ ไปจนถึงแนวเพลงของวง นักร้องนำในวง ที่จะทำอย่างไรให้คนจดจำได้ว่า ถ้าได้ยินเพลงประมาณนี้เมื่อไหร่ นี่แหละพวกคุณเลย ลองมองถึงนักร้องนำวง Silly Fools ดูสิ คุณจะรู้ว่า เมื่อเปิดเพลงของเค้าเมื่อไหร่ คุณจะจำได้เสมอว่า นี่เพลงของพวกเค้า หรือแม้แต่คริสติน่า อากีล่า ที่หลายคนอาจไม่ชอบการร้องที่มีเสียงลม "เฮอะๆๆ" แทรกอยู่เสมอเมื่อจบประโยค แต่คุณก็จำได้เสมอ ไม่ใช่เหรอ เมื่อคุณได้ยินเพลงของเค้า

กฏข้อสิบสาม สร้างความกลมกลืนให้กับเสียง (Sound/Tune) คุณต้องรู้จักเครื่องดนตรีที่คุณใช้ เพราะมันคืออาวุธคู่กาย ที่จะสร้างเสียงมหัศจรรย์ ตามแต่ที่คุณจะต้องการออกมา ถ้าคุณไม่รู้ว่า เครื่องดนตรีที่คุณใช้อยู่ เหมาะกับงานประเภทไหน รับรอง ตกงานแน่ โดยเฉพาะนักดนตรีที่ทำงานในห้องอัด คุณต้องสามารถปรับซาวน์ดของคุณ ให้ได้ตามต้องการ ถ้าคุณสามารถ ทำให้โปรดิวเซอร์ทึ่งกับเสียงสวรรค์ ที่คุณสามารถบันดาลมันออกมาได้ล่ะก็ รับรองเลยว่า งานมาจ่อรอคุณอีกเพียบ

กฏข้อสิบสี่ ฝึกซ้อมในสิ่งที่คุณยังทำไม่เป็น การฝึกซ้อมเป็นสิ่งที่ดี แต่จงจำไว้ว่า เมื่อคุณรู้ตัวว่า สิ่งไหนคุณยังทำไม่ได้ จงพยายามเรียนรู้

กฏข้อสิบห้า สร้างทักษะทางธุรกิจ ถ้าคุณอยากเป็น.... นักดนตรีที่ประสบความสำเร็จ ทั้งเงิน และทั้งกล่อง คุณต้องรู้จักมองตัวเองในฐานะนักธุรกิจ มองงานดนตรีเป็นสินค้า เลิกทำตัวเป็นศิลปินจ๋า ที่มากไปด้วย ego ลดๆมันลงมาบ้างก็ได้ แต่อย่าให้มันหายไปหมด พยายามทำให้ผู้บริหารค่ายเทป รู้ว่าคุณไม่ใช่หมูให้เค้าเชือดได้ง่ายๆ เมื่อต้องต่อรองอะไรกับธุรกิจประเภทนี้ จงจำไว้ว่า คุณคือเหยื่อ อย่าไว้ใจใคร และเมื่อมีใครยื่นเอกสารอะไรให้คุณเซ็น ควรปรึกษาทนายก่อนเสมอ แม้ว่าบางครั้งคุณอยากจะเซ็นมันจนตัวสั่น เพราะหวังว่า จะได้เป็นศิลปินกับเค้าเสียที แต่ถ้าคุณไม่อยากที่จะ เสียผลประโยชน์จนเกินไปล่ะก็ อย่าลืมกฎข้อนี้เชียวล่ะ

กฏข้อสิบหก ฝึกทั้งคอร์ดหลักและรองให้คล่องมือ การฝึกซ้อมเรื่องเหล่านี้ รับประกันได้ถึง 80% เลยว่า คุณจะสามารถหางานได้ ทั้งในธุรกิจเพลงร็อค บลู ป๊อบ ฯลฯ แต่ถ้าคุณยังไม่รู้มันล่ะก็ รีบศึกษาซะ

กฏข้อสิบเจ็ด เรียนรู้ท่วงทำนอง การเรียนรู้ และจดจำท่วงทำนองของเพลงที่คุณเล่น ทำให้คุณสามารถที่จะ มโนภาพตามได้อย่างง่ายดาย และสามารถสร้างสรรค์งาน ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ เล่นได้อย่างเหมาะสม กับช่วงของทำนอง เหมาะกับสิ่งที่มันควรจะเป็น

กฏข้อสิบแปด รู้จักที่ของตัวคุณ เมื่อคุณถูกหัวหน้าวงสั่งให้ทำอะไร เล่นในแนวใด จงยิ้มรับและทำมันด้วยความเต็มใจ รอวันที่อัลบั้มของคุณโด่งดังเสียก่อน แล้วค่อยซ่าทีหลัง

กฏข้อสิบเก้า การสมัครเรียน หรือฟังเพลงแนวอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ว่าคุณจะเก่งมาจากไหน อย่าคิดว่าตัวเองรู้มาก รู้หมดทุกอย่างที่ควรจะรู้ จงรู้จักการการเปิดโลก เปิดหู เปิดใจยอมรับในสิ่งที่แตกต่าง มันจะช่วยให้คุณดีขึ้น นักดนตรีที่ดีคือนักดนตรีที่รอบรู้ เผลอๆ คุณอาจรู้สึกแปลกใจ ที่คุณได้พบกับสิ่งดีๆ ที่คุณเองยังไม่เคยสัมผัสมาก่อน มันอาจทำให้คุณ เป็นนักดนตรีที่รู้จักการพัฒนา มีสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ มาประดับวงของคุณ

กฏข้อยี่สิบ เรียนรู้วิธีการ Tune ให้มากที่สุด แม้ว่าคุณจะไม่ได้เป็นนักดนตรีตามห้องอัด ที่จะสามารถแยกแยะ ประเภทของเสียงได้ แต่คุณก็สามารถศึกษา หาความรู้เพิ่มเติมได้ ยิ่งคุณรู้จักเสียงของเพลงมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีโอกาส ในการทำงานมากเท่านั้น

กฏข้อยี่สิบเอ็ด เมื่อคุณรู้สิ่งใหม่ใสปิ๊ง จงหาทางนำมันมาใช้ นักดนตรีหลายคน ที่พบกับวิธีการเล่นแบบใหม่ๆ เจ๋งๆ ในขณะที่ตัวเองกำลังซ้อม แต่แล้วเค้าก็ไม่รู้ว่า จะได้เอามันมาใช้เมื่อไหร่ จงพยายามคิดไว้ล่วงหน้าเสมอ ก่อนที่คุณจะเริ่มต้น หาสิ่งใหม่ๆ คุณจะต้องคิดไว้แล้ว ว่าคุณกะจะเอามันไปทำอะไร

กฏข้อยี่สิบสอง ฝึกความเชี่ยวชาญประมาณศิลปิน การที่คุณเล่นได้อย่างวิเศษ เลิศหรูในห้องซ้อมดนตรี หรือห้องนอนเล็กๆเท่ารูหนูของคุณ มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย ถ้าคุณไม่มีโอกาสเอามันออกไปใช้ คุณควรสร้างโอกาส ให้ตัวเองได้ขึ้นเวทีเสมอๆ เพื่อความเคยชิน พยายามหาโอกาสให้ได้มากที่สุด ประสบการณ์คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

กฏข้อยี่สิบสาม เรียนรู้พื้นฐาน นักดนตรีหลายคนคิดว่าเรื่องทฤษฎีพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเรียนรู้พื้นฐานไม่ใช่สิ่งเสียเปล่า คุณมีแต่ได้กับได้ เพราะคุณก็จะได้เล่นได้ทุกแนว คิดออกได้ทุกเมื่อ หากพื้นฐานคุณแน่นพอ คุณจะได้ไม่ต้องเสียเวลา มานั่งคลำเป็นชั่วโมง กว่าจะเจอคอร์ดที่คุณคิดว่าเพราะ ทั้งๆที่มันเป็นเรื่องพื้นฐานแท้ๆ

กฏข้อยี่สิบสี่ ระวังตัวทุกขณะ หากเผอิญคุณดังเป็นพลุแตก อย่างที่คุณฝันไว้ คนมากหน้าหลายตา จะเข้ามาวนเวียนในชีวิตคุณ แบบไม่ได้นัดหมาย คุณมีโอกาสที่จะเจอพวกที่จ้อง สูบเลือด สูบเนื้อจากตัวคุณตลอดเวลา พวกที่ไม่มีอะไรทำ นอกจากการตักตวงผลประโยชน์ สนุกกับชีวิตให้สมอยาก แต่อย่ามากเกินพอดี เดี๋ยวจะลืมตัวเป็นวัวลืมตีน ที่แน่ๆอย่าลืมรักษาเครื่องมือหากินของคุณ เครื่องดนตรีเปรียบเหมือน หัวใจของนักดนตรี

กฏข้อยี่สิบห้า อย่ากินบนเรือนขี้บนหลังคา อย่าฟันนักร้องสาววัยขบเผาะของวง อย่าล่อหมาของมือกลอง แฟนของมือเบส ฯลฯ อย่าหักหลังเพื่อนร่วมวง อย่าเอาเปรียบเพื่อน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น